บทที่ 2
การจัดการคุณภาพโดยรวม
(Total Quality Management)
บทนำ
การจัดการคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management; TQM) ในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมกลางทศวรรษ
80’s โดยการจัดการคุณภาพโดยรวมเป็นกระบวนการดำเนินการที่มององค์รวมเพื่อการจัดการคุณภาพและธุรกิจไปพร้อมกัน
เป็นชุดการปฏิบัติด้านการจัดการที่ใช้ทั่วองค์กร
เพื่อสร้างความมั่นใจว่าองค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเกินความคาดหวังอย่างมั่นคง
การจัดการคุณภาพโดยรวมมุ่งการจัดการกระบวนการอย่างชัดเจนและเป็นเครื่องมือควบคุมสู่การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
TQM เป็นกระบวนการบริหารที่มุ่งความสำเร็จระยะยาวโดยเน้นการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า
ผ่านการปรับกระบวนการเพื่อตอบสนองข้อมูลที่มีการป้อนกลับอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างคุณค่าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
คำนิยามของ TQM มีหลากหลาย เช่น
การจัดการคุณภาพโดยรวมเป็นปรัชญาเชิงบูรณาการของการจัดการที่มุ่งการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และกระบวนการอย่างต่อเนื่อง
(W. Edwards Deming) TQM เป็นระบบการทำงานที่เป็นวัฒนธรรมขององค์การที่สมาชิกทุกคนให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
โดยมุ่งที่จะตอบสนองความต้องการและความพอใจให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะสร้างโอกาสทางธุรกิจ
ความได้เปรียบในการแข่งขันและพัฒนาการที่ยั่งยืนขององค์การ
สรุปได้ว่า TQM เป็นเสมือนการรวบรวมหลักการ เทคนิค กระบวนการ
และวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด บนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
การจัดการคุณภาพโดยรวม เป็นลักษณะที่สำคัญ คือ
1. ผู้นำมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดการ
ผ่านภาวะผู้นำที่ดีและการเสริมพลังผู้ปฏิบัติงาน
2. ให้ความสำคัญกับการวางแผน กระบวนการ
และการทำงานเป็นระบบที่มีประสิทธิดภาพ
3. วัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อการดำเนินการ
4. เน้นการมีส่วนร่วมการตัดสินใจในทุกระดับที่มุ่งลูกค้าเป็นสำคัญ
5. เน้นการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
6. มีระบบการป้อนกลับข้อมูล
และการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจ
7. เน้นตอบสนองความสำเร็จหรือเป้าประสงค์ขององค์กรระยะยาว
8. เกิดกระบวนการจัดการที่ประหยัดต่อหน่วย
ลดปริมาณการสูญเสีย ส่งผลให้สินค้าและบริการมีลักษณะที่เป็น value added
9. ให้ความสำคัญต่อการให้ค่าของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์
หรือการบริการ
10.
ตอบสนองความพึงพอใจ หรือเกิดความคาดหวังของลูกค้า
วัตถุประสงค์ทั่วไป
(Principal objectives)
ตำราที่เขียนเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพโดยรวมและการจัดการทั่วไปก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน
แต่พอจะสรุปวัตถุประสงค์ทั่วไปของการจัดการคุณภาพโดยรวม ได้เป็น
1. เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
สร้างความพึงพอใจและเกินความคาดหวัง ต่อผลิตภัณฑ์หรือการบริการขององค์กร
2. เพื่อการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
ผ่านการจัดการที่สร้างเสริมหรือกระตุ้นให้ลูกจ้างมีสมรรถนะและความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการบริการ และผลิตภัณฑ์
ผ่านการประเมินระบบคุณภาพว่ามีการดำเนินการตามที่วางไว้อย่างไร
การวิเคราะห์หาโอกาสพัฒนาจากข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามาสู่ระบบ และเป็นข้อมูลป้อนกลับ
เข้าสู่วงล้อคุณภาพ
3. เพื่อป้องกันไม่ให้ลดคุณภาพของสินค้าหรือบริการมากกว่าที่จะเป็นการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นรวมทั้งการกำจัดต้นทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ
หรือกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตหรือไม่เกิดประโยชน์ การให้ lean management ช่วยวิเคราะห์การะบวนการ
จึงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้
4. เพื่อการพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้สามารถใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
ด้วยการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน/คุณภาพของสินค้าหรือบริการ
อันจะทำให้คุณภาพชีวิต (Quality
of Life) ของพนักงานทุกคนดีขึ้นเรื่อยๆ
อย่างต่อเนื่อง บทบาทหลักของผู้บริหารระดับสูงอีกประการหนึ่งคือ
เพื่อพัฒนาสัมพันธภาพด้วยการเปิดใจกว้างและสร้างความไว้ใจ
ความพึงพอใจให้เกิดขึ้นในหมู่พนักงานทุกระดับขององค์กร
วัตถุประสงค์เชิงปฏิบัติการ
(Performance objectives)
การจัดการคุณภาพโดยรวมมุ่งที่จะให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความสำเร็จได้ในระยะยาว
โดยเน้นคุณภาพบริการหรือสินค้าที่เป็นไปตามความต้องการและการให้คุณค่าของลูกค้าเพื่อสร้างความพึงพอใจในสินค้าหรือบริการ
และลดสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ในกระบวนการ
การจัดการคุณภาพโดยรวมจะเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) ทุกระดับ เพื่อให้เกิดการตอบสนองทันเวลา
หรือใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
กล่าวกันว่าลูกค้าที่ไม่พอใจสินค้าหรือบริการจะมีเพียงส่วนน้อยที่สะท้อนหรือร้องเรียนความไม่พอใจดังกล่าว
และหากองค์กรมีการตอบสนองข้อร้องเรียนเหล่านั้นจะมีลูกค้าเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่จะกลับมาใช้บริการหรือสินค้าอีก
และลูกค้าที่มีความสุขหรือพึงพอใจกับการบริการก็จะบอกต่อกันไปประมาณ 3 คน
ในขณะที่ลูกค้าที่ไม่พึงพอใจจะบอกต่อกันไปไม่ต่ำกว่า 11 คน
วัตถุประสงค์เชิงปฏิบัติการ
มุ่งให้ความสำคัญกระบวนการและระบบที่ต้องการปรับปรุง
จึงมีความสำคัญที่จะต้องติดตามแผนปฏิบัติการเพื่อปรับปรุงผลได้ ดังนี้
1. ความเร็ว (speed)
2. ต้นทุน (cost) การปรับปรุงหรือการพัฒนาคุณภาพจำเป็นที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
แต่การลดขั้นตอนที่ไม่เหมาะสม
หรือการเน้นคุณภาพของปัจจัยนำเข้ากระบวนการก็จะส่งผลต่อปริมาณของสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากความเสียหายที่ลดลง
ต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้นจำเป็นที่ต้องชดเชยด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ซื้อมีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น
3. คุณภาพ (quality) เมื่อปริมาณงานเพิ่มขึ้นการจะคงคุณภาพการบริการจึงกิดกระบวนการตรวจสอบคุณภาพขึ้นตามระยะเวลา
และเพิ่มการตรวจสอบพิเศษ (surprise
quality check) ซึ่งหากหน่วยงานไม่ผ่านการตรวจสอบ
2 ครั้ง หน่วยเหนือจะเข้ามาควบคุมโดยตรง
เพื่อสร้างหลักประกันว่ามีการปฏิบัติตามกระบวนการและการใช้อุปกรณ์ที่เป็นไปตามข้อกำหนด
สำหรับบุคลากรที่ไม่ผ่านการประเมินจะมีกระบวนการฝึกอบรม
อย่างไรก็ตามก็จะเป็นข้อมูลป้อนกลับว่าการปรับปรุงการะบวนการฝึกอบรมสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติงานหรือไม่
ทั้งนี้มุ่งหมายที่จะให้ผู้ปฏิบัติงานนั้นมีความสุขซึ่งจะส่งผลให้บริการที่ดีขึ้น
และลูกค้าก็มีความสุขเพิ่มขึ้น
4. เชื่อถือได้ (dependability)
5. ยืดหยุ่น (flexibility)
แนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลัง
แนวคิดหลักที่อยู่เบื้องหลังการจัดการคุณภาพโดยรวม
ตั้งอยู่บนชุดข้อเสนอของ Deming
ในหนังสือ Out of Crisis เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติด้านการจัดการ
เพื่อจะช่วยให้ธุรกิจเพิ่มคุณภาพและการเพิ่มผลผลิต หรือผลิตภาพ (productivity) ประกอบด้วย
1. กำหนดเป้าประสงค์ที่แน่นอนในการปรับปรุงผลผลิตและบริการอย่างต่อเนื่อง
จัดสรรทรัพยากรเพื่อตอบสนองเป้าหมายระยะยาว
โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและคงอยู่ รวมทั้งเป็นแหล่งงาน
2. ปรับตัวรับปรัชญาการจัดการใหม่ๆ
เพื่อรับการท้าทาย ระบบการจัดการไม่สามารถที่จะยอมรับความล่าช้า ความผิดพลาด
หรือความบกพร่องได้อีกต่อไป และพร้อมที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
3. ลดการพึ่งพิงการตรวจสอบเพื่อให้ได้คุณภาพ
กำจัดความต้องการในการตรวจจำนวนมากแต่ให้สร้างคุณภาพเข้าไปในผลิตผลตั้งแต่เริ่มกระบวนการและต้องใช้ข้อมูล
สถิติเข้ามาเป็นฐานการเปลี่ยนแปลง
4. หยุดวัดผลของธุรกิจที่ป้ายราคาสินค้า
แต่ต้องเน้นคุณภาพที่ราคา รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตในภาพรวม
สร้างให้เกิดความภักดีหรือไว้ใจในองค์กร
5. เน้นการปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน
การผลิต และการบริการ มุ่งเน้นคุณภาพและการเพิ่มผลผลิตซึ่งจะเท่ากับการลดต้นทุนทางอ้อม
การจัดการเชิงระบบต้องต่อเนื่องครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ วัสดุปอุปกรณ์ที่รับเข้า
การธำรงรักษา การปรับปรุ่งเครื่องจักร การนิเทศกำกับ
การอบรมทั้งก่อนและระหว่างทำงาน
6. เน้นการฝึกอบรมระหว่างงานรวมทั้งการจัดการ
ความรู้และทักษะใหม่ๆ จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งวัสดุอุปกรณ์ วิธีการ ผลิตภัณฑ์
และการออกแบบบริการ เครื่องมือ เทคนิค และการบริการ
7. เน้นภาวะผู้นำในการส่งเสริมให้บุคคลทำงานดีขึ้น
ควรเปลี่ยนมุมมองจากจำนวนตัวเลขผลผลิตที่สุดโต่งเป็นคุณภาพ การปรับปรุงคุณภาพจะส่งผลโดยอัตโนมัติต่อการเพิ่มผลผลิต
ผู้นำสร้างความมั่นใจว่าการจัดการจะตอบสนองต่อรายงานความบกพร่องที่ซ่อนในระบบซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพทันที
8. ขจัดความหวาดกลัว
เน้นการสื่อสารสองทางเพื่อสร้างการับรู้ร่วมกันทั้งองค์กร
9. ทลายกำแพงกั้นระหว่างแผนกหรือกลุ่ม การร่วมแรงร่วมใจระหว่างแผนกเพื่อจัดการปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการ
10.
กำจัดสโลแกน โปสเตอร์
และคำพูดเร่งเร้าแรงงานโดยมุ่งให้ไม่มีความผิดพลาด (Zero defects) หรือขยับการเพิ่มผลผลิตตลอดเวลาโดยไม่เสริมวิธีการเข้าไป
การเร่งเร้าเช่นนี้มีแต่สร้างความสัมพันธ์ที่ไม่เกิดผลรวมทั้งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่คุณภาพและผลิตภาพ
(productivity) ที่ลดลง
11.
กำจัดมาตรฐานงานที่เน้นโควตาหรือเป้าหมายที่มุ่งจำนวนโดยขาดเหตุผลรองรับ
การสนับสนุนและการใช้ภาวะผู้นำ
หลีกเลี่ยงการจัดการโดยวัตถุประสงค์ที่มุ่งตัวเลขเป็นสำคัญ
12.
สร้างเสริมความภาคภูมิใจของการเป็นแรงานฝีมือที่มีส่วนในการสร้างคุณภาพ
มากกว่าที่จะเน้นจำนวน หรือการจัดลำดับบุคคลตามปริมาณงาน
13.
เน้นการเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงจตนเองอย่างต่อเนื่อง
เพราะการแข่งขันในธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความรู้ของบุคคล
14.
ผู้นำแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบในการปรับปรุงคุณภาพและผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งแนวทางการนำหลักการดังกล่าวลงสู่การปฏิบัติ
การจัดโครงสร้างองค์กรเพื่อตอบสนองต่อภาระหน้าที่ดังกล่าวในการที่จะขับเคลื่อนแนวทางเบื้องต้นทั้ง
14 กระบวนการ และลงมืออย่างชัดเจนที่จะบรรลุการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น พึงระลึกว่า “การสนับสนุนอย่างเดียวไม่เพียงพอ
แต่ต้องการการลงมือด้วย”
แนวคิดหลักของการจัดการคุณภาพโดยรวม(Total Quality Management-core
concepts)
แนวคิดหลักของการจัดการคุณภาพโดยรวม มุ่งหมายที่จะหลอมรวมความต้องการของลูกค้าเข้ากับการปฏิบัติการของธุรกิจหรือองค์กรเข้าเป็นระบบการจัดการเดียวกัน
1. ยุทธศาสตร์ (strategic) การวางแผนยุทธศาสตร์ที่สะท้อนความมุ่งหมายขององค์กรที่จะบรรลุความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
โดยหัวใจสำคัญของแผนยุทธศาสตร์คือคุณภาพของผลิตผล
และการปฏิบัติหรือการให้บริการช่วยให้องค์กรสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิดภาพในทิศทางที่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการรับรู้ร่วมกัน
2. การจัดการที่เน้นข้อมูล (informed management) ที่ถูกต้อง เพียงพอ น่าเชื่อถือ
และได้รับการวิเคราะห์อย่างเหมาะสมเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจด้านการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมการวางแผนกระบวนการวัดผลลัพธ์อย่างเหมาะสม
รวมทั้งทบทวนกระบวนการปฏิบัติและให้มีการเผยแพร่ให้รับรู้ทั่วกัน
ข้อมูลเหล่านี้ควรครอบคลุมลูกค้า คู่แข่ง หุ้นส่วนธุรกิจ ผู้ปฏิบัติงาน และอื่นๆ ที่ส่งผลต่อต้นทุน
3. ภาวะผู้นำที่ดี (good leadership) ภาวะผู้นำไม่ได้เป็นภาวะของผู้บริหารสูงสุด
แต่เป็นภาวะที่ผู้จัดการทุกระดับจะต้องมี ผู้นำควรส่งเสริมให้มีการสำรวจการให้ค่าและความคาดหวังที่สูงของลูกค้า
และให้ความสำคัญในการเป็นแบบอย่างที่ดี โดยเฉพาะองค์กรที่ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมสูงในการพัฒนาคุณภาพ
เน้นการเสริมพลังให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถออกความคิดเห็นหรือการตัดสินใจในหน้าที่ความรับผิดชอบเพื่อการบรรลุผลลัพธ์ที่ดีมากกว่าการสั่งหรือการควบคุมแบบเดิมๆ
เนื่องจากไม่มีใครรู้เกี่ยวกับงานได้ดีไปกว่าผู้ที่เป็นคนปฏิบัติ หากบุคลากรมีการรับรู้ว่า
ผู้นำเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมและมีความเข้าใจในระบบงาน
ก็จะสร้างความยอมรับเพิ่มมากขึ้น
โรงพยาบาลรัฐเองหากผู้นำมีส่วนร่วมในการให้บริการมาก่อนหรือมีการลงคลินิกจะรับทราบปัญหาวงในได้มากกว่า
และได้รับการยอมรับมากกว่า
4. เน้นที่ลูกค้า (customer focused) ลูกค้าตีค่าคุณภาพขององค์กรในมุมมองที่ขึ้นกับการมีส่วนร่วมรับรู้หรือการมีปฏิสัมพันธ์ในทุกขั้นตอน
ตั้งแต่ก่อนผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ระหว่าง และหลังการจำหน่าย
เป้าหมายขององค์กรต้องรักษาสัดส่วนการตลาด และขยายตลาดสำหรับผลิตภัณพ์ใหม่ โดยจะต้องไวต่อการตอบสนองความต้องการลูกค้า
5. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) ตรงกับคำว่า ไคเซ็น (kaizen) ของญี่ปุ่น
เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการคุณภาพโดยรวม นั่นคือจะต้องระบุปัญหาที่เกิดขึ้น
และมีกระบวนการที่จะปรับปรุงอย่างรวดเร็ว โดยเน้นการเพิ่มคุณค่าของธุรกิจในสายตาลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ลดความผิดพลาด ลดระยะเวลาในการกระจาย และเพิ่มผลิตภาพ
โดยการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องด้วยการทำงานเป็นทีม การจัดการคุณภาพโดยรวม
องค์กรเป็นเสมือนแหล่งรวบรวมกระบวนการที่หลากหลายที่ต่างมีเป้าประสงค์เดียวกันในการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์เท่าที่สามารถดำเนินการเพื่อตอบสนองลูกค้าเช่นเดียวกันกับองค์กรได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการ
การเชื่อมโยงภายในมีทั้งการสื่อสารและความรับผิดชอบร่วมให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์หรือการบริการนั้น
องค์ประกอบของการยกระดับคุณภาพบริการ
การยกระดับคุณภาพการบริการ
จำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้านการบริหารจัดการ หากพิจารณาระบบ
อย่างที่ทราบกันดีว่า ระบบประกอบด้วยปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์
องค์ประกอบการยกระดับคุณภาพประกอบด้วย 4 ปัจจัย
1. คุณภาพปัจจัยนำเข้า ประกอบด้วย เงิน คน อุปกรณ์/สิ่งของ
ข้อมูล การจัดการมุ่งให้ความสำคัญ
I.
คุณภาพด้านงบประมาณ
เน้นการวางแผนด้านการเงินที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ และระยะเวลา
ลดความสิ้นเปลืองการใช้ทรัพยากร
II.
คุณภาพบุคลากร เน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงานและการสร้างบรรยากาศของการทำงานเป็นทีม
การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
III.
ความพร้อมและเพียงพอของอุปกรณ์และวัตถุดิบ
การธำรงรักษาเพื่อให้พร้อมใช้ตลอดเวลา และลดการเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันควร
IV.
คุณภาพข้อมูล การจัดการคุณภาพโดยรวมจำเป็นที่จะต้องมีการค้นหาความต้องการของลูกค้า
ผ่านการสำรวจที่มีระบบ
2. คุณภาพด้านข้อกำหนด มาตรฐาน
ผู้นำต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเรื่องมาตรฐานและการนำลงสู่การปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ
รวมทั้งการกำกับติดตามการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามกระบวนการหรือแนวทางที่กำหนดหรือไม่อย่างไร
และจำเป็นต้องสนับสนุนเพื่อให้เกิดคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง
3. คุณภาพด้านกระบวนการ หรือการให้บริการ
เพื่อสร้างความพึงพอใจ และเป็นไปตามเป้าประสงค์เชิงปฏิบัติการเช่น
ความรวดเร็วในการให้บริการ ความสม่ำเสมอ
กระบวนการเป็นการปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นปัจจัยนำเข้า
รวมถึงการวัดและการตรวจสอบ ภาวะแวดล้อม กระบวนการที่ดีต้องสามารถทำซ้ำได้
มีประสิทธิภาพ
4. คุณภาพด้านการสื่อสาร
การให้ข้อมูลทั้งในส่วนที่เป็นลูกค้าภายนอก เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจ
และรวมทั้งการให้ข้อมูลแก่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อลดความหวาดกลัวจากการไม่รู้
เน้นคุณภาพของการให้บริการและผลิตผล มากกว่าที่จะมุ่งเน้นเรื่องจำนวน
การให้ความสำคัญต่อลูกค้า
(Customer focus)
ลูกค้าแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก
ลูกค้าภายนอก (external customer) สำหรับโรงพยาบาลมักหมายถึง ผู้ป่วย ญาติ บริษัท
ห้างร้าน คู่ค้า ชุมชน อบต. สถานพยาบาลเครือข่าย หรือบริษัทประกันสุขภาพ
ลูกค้าภายใน (internal customer) แนวคิดลูกค้าภายในที่สำคัญประการหนึ่งคือ
การส่งต่องานที่มีคุณภาพระหว่างหน่วยงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
และประสิทธิผลในการประสานงานที่จะบรรลุการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตามทางเลือกที่ดีที่สุด
แนวคิดลูกค้าภายในทำให้หาเจ้าภาพในการดำเนินการแก้ไขหากเกิดปัญหาได้
โดยหลักการผู้รับช่วงเป็นลูกค้า
Loveday เสนอปัจจัยจำเป็นในการให้บริการลูกค้าได้ดีที่สุด
ประกอบด้วย
1. รู้และเชื่อถือในลูกค้า ลูกค้ามีโอกาสที่จะเลือกและดำเนินการทันทีหากพบว่าสิ่งที่ได้รับไม่ก่อให้เกิดความพึงพอใจ
2. รับฟังและตอบสนองในสิ่งที่ลูกค้าเห็นว่ามีความสำคัญ
3. วัดผล ทั้งกิจกรรมด้านการจัดการ
และการประเมินตนเองโดยทุกคนทุกระดับที่ต้องเปิดเผยต่อทุกคน
ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
4. การฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้มีทักษะและได้รับการติดอาวุธทางปัญญา
จะทำให้ยิ่งสามารถปฏิบัติงานและให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น
5. ทุกคนมีส่วนร่วมและรับผิดชอบสิ่งที่เขาทำ
คุณภาพไม่ได้เริ่มจากหน้าที่การจัดการอย่างเดียว
แต่เป็นอิทธิพลของทุกคนที่มีต่อการบริการลูกค้า
6. การสื่อสารกับลูกค้าและผู้ปฏิบัติงานถึงสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่และปรับปรุง
และการมีส่วนร่วมของเขาในการที่จะทำให้เกิดขึ้น
7. ภาวะผู้นำที่ดี เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเชื่อมั่น
ไว้ใจ สามารถชี้แนะและเสริมแรง แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีความมุ่งมั่น อุทิศตน และมีส่วนร่วมในการที่จะทำให้การบริการลูกค้าที่ดีเป็นจริง
8. ความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงาน
ความรับผิดชอบหลักของการจัดการคือ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกมีค่า
ได้รับการไว้วางใจ มีทักษะ ทรัพยากร และไม่กลัวที่จะล้มเหลว
ซึ่งจะทำให้เกิดบริการที่สร้างความพึงพอใจได้
9. การยกย่อง
เป็นการให้รางวัลที่ไม่ใช่อยู่ในรูปตัวเงิน การยกย่อง
หรือการยอมรับส่งผลให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ตามมา
10.
ไม่หยุดที่จะก้าวต่อ
จุดเริ่มของการปรับปรุงการบริการลูกค้าคือการไม่หยุดที่จะพัฒนา
ยิ่งดำเนินการก็จะสร้างความเชื่อถือของลูกค้าเพิ่มขึ้น
การหาความต้องการของลูกค้าหรือผู้รับบริการ
ตัวอย่างวิธีการรับฟังและเรียนรุ้ความต้องการผู้รับบริการ
1. การสำรวจความต้องการและความคาดหวังของผู้รับบริการ
ซึ่งอาจดำเนินการในลักษณะที่เป็นขององค์กร หรือกิจกรรมที่ต้องการพัฒนา
และเพื่อให้ข้อมูลที่ได้น่าเชื่อถือจึงต้องมีการวางระบบการศึกษาที่ชัดเจนอาจเป็นลักษณะ
mini research
2. บัตรแสดงความคิดเห็น (comment cards) ง่ายแต่มักมีอัตราการตอบสนองต่ำ
และข้อมูลอาจกระจาย หน่วยงานจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นให้ผู้ให้บริการให้ข้อมูล
ง่ายในการเข้าถึง และอาจต้องมีสิ่งจูงใจ
3. ระบบรับข้อร้องเรียน
ซึ่งอาจเป็นบัตรรับข้อร้องเรียน หรือหน่วยรับข้อร้องเรียน
แม้ว่าการดำเนินการนี้เป็นเชิงรับ เพราะผู้ที่ร้องเรียนมักจะเป็นผู้ที่ไม่พึงพอใจระบบบริการ
แต่เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการพัฒนา
โดยนำมาวิเคราะห์และพิจารณาหาปัจจัยที่เป็นสาเหตุนำไปวางแผนแก้ไขปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้อง
เพิ่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ
4. การรับข้อมูลป้อนกลับ มักเป็นการสอบถามลูกค้าที่มีธุรกรรมหรือเป็นคู่ค้า
5. การทำสัมภาษณ์กลุ่ม (focus group) เชิญผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สามารถสะท้อนประเด็นที่ต้องการรับทราบมาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการให้บริการนั้น
โดยผู้ที่ดำเนินการต้องมีความสามารถในการกำหนดคำถามที่เป็นกึ่งโครงสร้างไว้ล่วงหน้า
เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถได้ข้อมูล
เพราะบรรยากาศการทำสัมภาษณ์กลุ่มที่มีประสิทะภาพจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน
การต่อยอดความคิดเห็น หรือการเสริมความคิดได้มากขึ้นกว่าการสัมภาษณ์บุคคลทั่วไป
6. การพบปะเยี่ยมเยือนผู้รับบริการ
สำหรับภายในองค์กร
ผู้นำอาจดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานหรือผู้ปฏิบัติงานได้โดยตรง
ผ่านกิจกรรม เช่น safety
walkround หรือหัวหน้าหน่วยทำหน้าที่ผู้นิเทศ
สอบถามความต้องการผู้มารับบริการในขณะนั้นโดยตรง
7. ข้อมูลตรงจากบุคลากรส่วนหน้า (frontline personel) หรือผู้ปฏิบัติงาน
อาจให้มีระบบการประชุมย่อยในแต่ละวัน หรือใช้ระบบการรายงาน สังเกต
การบันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวัน และให้มีระบบการรวบรวม การรายงานหัวหน้างาน
ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ
8. การใช้ผู้รับบริการทดสอบ หรือผู้รับบริการลึกลับ (mystery shopper) เป็นผู้ที่หน่วยงานกำหนดขึ้นร่วมกับหน่วยงานคุณภาพภายในเมื่อต้องการทดสอบระบบ
9. การศึกษาวิธีอื่นๆ จากสื่ออื่นๆ
การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ เป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมินว่าเครื่องมือที่ใช้ยังมี
ประสิทธิผลและสามารถให้ข้อมูลได้
หรือเพื่อให้ทันกับวิสัยทัศน์ หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
TQM คือ
ระบบการบริหารคุณภาพหรือเทคนิคการบริหารเพื่อการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการอย่างต่อเนื่อง
โดยที่พนักงานทุกระดับและทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการปรับปรุง
ความแตกต่างระหว่างองค์กรด้านผลิตกับการให้บริการ
(Differences between
manufacturing and service organizations)
คำว่า คุณภาพ
ในสายการผลิตจึงเน้นที่ลักษณะของสินค้าที่จับต้องได้ สำหรับหน่วยงานที่ให้บริการ
ส่วนมากแล้วผลิตผลที่ให้มักจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ได้จากประสบการณ์
การรับรู้ ซึ่งเป็นนามธรรม คำว่าคุณภาพในสายการผลิตจึงมีความหมายหลายประการ
ประกอบด้วย
ความสอดคล้อง (Conformance) เป็นการวัดว่าสินค้านั้นมีคุณลักษณะเป็นไปตามข้อกำหนด
(specifications) ที่ตั้งไว้หรือไม่ เช่น หน่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน fast tract ของผู้ป่วย acute myocardial infarction ที่มาถึงโรงพยาบาลจะต้องได้รับการให้ตรวจ ECG ภายใน 4 นาทียอมให้คลาดเคลื่อนไม่เกิน 1 นาที
สมรรถนะ (performance) จัดเป็นคุณภาพของสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการนำไปใช้
(fitness for use) ในการบริการหรือใช้งานตามเป้าหมายที่ลูกค้าต้องการ
ในงานบริการก็อาจเป็นความสามารถหรือความเชี่ยวชาญของโรงพยาบาลที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของกลุ่มผู้รับบริการที่แตกต่างกัน
สำหรับหน่วยงานบริการอื่นๆ ที่เป็นการบริการทั่วไปก็อาจจัดเป็นมิติของความสม่ำเสมอ
(consistency) ในการบริการ
ความน่าเชื่อถือ (reliability) หมายถึงสินค้าเหล่านั้นสามารถทำหน้าที่หรือใช้งานตามที่คาดหวัง
โดยไม่เกิดความล้มเหลว
ค่าความน่าเชื่อถือของสินค้าชนิดหนึ่งขึ้นตรงกับค่าความน่าเชื่อถือของแต่ละส่วนประกอบที่ทำหน้าที่เสริมกัน
ดังสมการต่อไปนี้
Rs = (R1) (R2) (R3)… (Rn)
โดยที่ Rs เป็นค่าความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์หรือระบบ
R1… n เป็นค่าความน่าเชื่อถือของส่วนประกอบที่ 1 ถึง n
ดังนั้น
ในการดำเนินการหากระบบประกอบด้วยกระบวนการจำนวนมากที่ต่อเนื่องกัน
ความน่าเชื่อถือก็จะมีค่าน้อยลงไปเรื่อยๆ และถ้าระบบนั้นมีความสำคัญเป็นระบบวิกฤต
เช่น
ระบบไฟฟ้าในโรงพยาบาลความจำเป็นที่จะต้องมีระบบสำรองเป็นระบบคู่ขนานเป็นสิ่งจำเป็น
แม้ว่าในภาวะปกติจะดูเป็นสิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือเกินความจำเป็น
แต่เป็นการจัดการที่ป้องกันความล้มเหลว การพิจารณาความน่าเชื่อถือสามารถประยุกต์ใช้กับระบบบริการ
เช่น ระบบสั่งการรักษาด้านยาสำหรับผู้ป่วยใน ที่มี ขั้นตอนตั้งแต่การสั่งใช้ยา การคัดลอก
การเตรียม การส่งมอบ การให้ยา ซึ่งก็จะมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน
สำหรับงานบริการบางอย่างความน่าเชื่อถือนี้ จะแสดงออกในลักษณะที่เป็นความรับผิดชอบที่มีต่อการตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการ
(responsiveness to customer
needs)
รูปลักษณ์ (features)
สินค้าที่มีรูปลักษณ์ หรือการออกแบบสินค้าที่ดูดี
ก็เท่ากับเป็นคุณภาพหนึ่งที่จับต้องได้
ความทนทาน (durability)
การบริการหลังการขาย (serviceability)
ตาราง
มิติคุณภาพเปรียบเทียบองค์กรด้านการผลิตและการบริการ
องค์กรด้านการผลิต
|
องค์กรด้านการบริการ
|
Conformance to specifications
|
Tangible factors
|
Performance
|
Consistency
|
Reliability
|
Responsiveness to customer needs
|
Features
|
Courtesy/friendliness
|
Durability
|
Timeliness/promptness
|
Serviceability
|
Atmosphere
|
Malcolm
Baldrige National Quality Award(MBNQA) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสถาบันที่รับผิดชอบ การประเมินประกอบด้วย 7
หมวด ประกอบด้วย
1. ภาวะผู้นำ
2. การวางแผนยุทธศาสตร์
องค์กรต้องมีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยเน้นเป้าประสงค์หลักด้านคุณภาพอย่างชัดเจน
ตลอดจนแนวทางการนำลงสู่การปฏิบัติในองค์กร
การติดตามผลการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นระยะ
ตลอดจนความเชื่อมโยงของแผนคุณภาพและแผนปฏิบัติการกับแผนยุทธศาสตร์อย่างเหมาะสม
3. การให้ความสำคัญลูกค้าและตลาด
การประเมินจะพิจารณาว่าองค์กรมีวิธีการอย่างไรในการได้มาซึ่งความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าซึ่งหมายรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด
รวมทั้งเป้าการตลาดสำหรับองค์กรธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต
โดยใช้เครื่องมือคุณภาพที่หลากหลาย เช่น การสำรวจ การทำ focus group
4. สารสนเทศและการวิเคราะห์(การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้) เป็นการพิจารณา ประเมิน
ขอบเขตและการจัดการคุณภาพและการปฏิบัติงาน
วิธีการได้มาซึ่งข้อมูลและการจัดการสารสนเทศ
ต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างไรในการพัฒนากระบวนการทั้งภายในองค์กร
และภายนอกองค์กร หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนการเปรียบเทียบ
วิเคราะห์เพื่อการหาโอกาสพัฒนา
การสร้างบรรยากาศการจัดการความรู้เพื่อเรียนรู้การพัฒนาร่วมกัน
5. การจัดการทรัพยากรบุคคล
จะต้องมีแผนการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร
การฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติงาน ตลอดจนแนวทางการจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างเหมาะสม
6. การจัดการกระบวนการ
มุ่งเน้นมาตรฐานการปฏิบัติในการออกแบบและการนำคุณภาพเข้าสู่กระบวนการเพื่อมุ่งผลลัพธ์และการบริการที่มีคุณภาพ
การดำเนินการด้านเอกสารเหมาะสม การใช้เครื่องมือคุณภาพที่ครอบคลุมกระบวนการจัดการด้านการผลิต
การกระจาย การให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เชื่อมต่อเช่น
การส่งมอบงานระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การประเมินคุณภาพโดยใช้ข้อมูล สถิติ ตามเหมาะสม
ตลอดจนระดับการบูรณาการกระบวนการภายในองค์กร
7. ผลลัพธ์การดำเนินการ
ทั้งด้านคุณภาพของผลิตผลและบริการ ผลลัพธ์เชิงปฏิบัติการระดับองค์กร
การจัดการกระบวนการ คุณภาพของหน่วยงานที่รับช่วงต่อ
การะประเมินคุณภาพไปจนถึงความบกพร่องที่เกิดขึ้นในระบบ
องค์กรจะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่พัฒนาอย่างต่อเนืองชัดตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง
หากเทียงเคียงระบบบริการสถานพยาบาล
การประเมินดังกล่าวต้องครอบคลุมผลลัพธ์ที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผล
ประสิทธิภาพของการจัดการเพื่อบรรลุเป้าประสงค์องค์กร ความคลาดเคลื่อน
การวิเคราะห์อุบัติการณ์ การนำผลการวิเคราะห์มาวางแผนอย่างต่อเนื่องตามวงล้อคุณภาพ
ความเป็นมารางวัลคุณภาพแห่งชาติ
(Thailand Quality Award:
TQA)
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของรางวัลนี้
จึงได้บรรจุรางวัลคุณภาพแห่งชาติไว้ในแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
รางวัลคุณภาพแห่งชาติถือเป็นรางวัลระดับโลก
(World Class) เนื่องจากมีพื้นฐานทางด้านเทคนิคและกระบวนการตัดสินรางวัล
เช่นเดียวกับรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐ หรือ MBNQA
เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติเพื่อองค์กรที่เป็นเลิศ มีข้อกำหนดต่างๆ
ของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ แบ่งเป็น 7 หมวดด้วยกันคือ
1. การนำองค์กร
2. การวางแผนเชิงกลยุทธ์
3. การมุ่งเน้นลูกค้า
4. การวัด การวิเคราะห์ และ การจัดการความรู้
5. การมุ่งเน้นบุคลากร
6. การมุ่งเน้นการปฏิบัติการ
7. ผลลัพธ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น